ราคาเหล็กพุ่ง 7 สมาคมเหล็กยื่นหนังสือ 5 ข้อผลกระทบราคาเหล็กต่อนายก อสังหาฯ แนะเร่งแก้ไข ลดต้นทุนแนวราบ
เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยประเทศจีนราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนขายตั้งแต่ตันละ 910-925 เหรียญ หรือ 2.2 เท่า ส่วนสหรัฐฯ ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนตันละกว่า 1,400 เหรียญมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ความต้องการเหล็กของภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทั่วโลก ในขณะที่การผลิตเหล็กโลกตามไม่ทัน โดยเฉพาะปีนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัว มีการเข้ามาแย่งซื้อเหล็กรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็กและการลดกำลังการผลิตในประเทศตามแผนแม่บทปี 2564 เพื่อการลดการปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทบผู้รับเหมาก่อสร้างมีต้นทุนพุ่งถึง 37.5%
จนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมานายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นผู้แทนกลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก ได้ยื่นหนังสือเรื่อง “ขอความอนุเคราะห์พิจารณาข้อเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าเหล็ก” ถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ 1.สร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน 2.กลุ่มผู้ผลิตในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต 3.สนับสนุนให้ภาครัฐพิจารณาปรับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) 4.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ และ 5.เร่งนำเสนอ และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0
ขณะเดียวกัน ภาพรวมความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็น 17.5 ล้านตัน ทำให้มีสินค้าเหล็กบางตัวอาจขาดแคลนในระยะสั้น แต่หากผู้ใช้เหล็กมีการวางแผนการใช้เหล็กและประสานกับโรงงานผู้ผลิตเหล็กในประเทศให้มี lead-time การสั่งซื้อวัตถุดิบและการผลิตทันเวลาก็น่าจะคลี่คลายปัญหาได้
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็ก เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก ลดผลกระทบปัญหาการจ้างงาน
ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กล่าว ยังสามารถควบคุมราคาต้นทุนได้อยู่ แต่ก็มองว่าอาจไม่รีบแก้ไขอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนโครงการแนวราบได้ ต้องมาดูกันว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรเพราะเหล็กคือวัตถุดิบหลักในการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะภาครัฐ ที่มีการประมูลโครงการก่อสร้างต่างๆ อย่างคึกคักในตอนนี้