เคล็ดไม่ลับ เลือกกระเบื้องเข้าบ้าน เพิ่มความสวยงาม แถมสีทนได้
นอกจากสีจะทนได้แล้ว ก็ต้องสวยงาม ถึงจะคุ้มค่า กับการเลือกกระเบื้องใช้ภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัย ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวไกล แถมนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมาย จึงทำให้ข้อจำกัดของกระเบื้อง ไม่ได้แค่ไว้ปูพื้นเท่านั้น แต่ยังสามารถทำเป็นผนัง และตกแต่งส่วนอื่นๆ ของบ้านเพื่อความสวยงามได้อีกด้วยแล้วเราจะเลือกยังไงให้เหมาะสม วันนี้เรามีเทคนิคแบบไม่ลับมาฝากคนที่กำลังจะต่อเติมหรือสร้างบ้านมาประกอบการตัดสินใจ
เริ่มจากเตรียมพื้นที่จะปูกระเบื้อง ต้องเรียบเสมอกัน ไม่ยุบหรือเป็นร่อง จากนั้นเวลาเลือกกระเบื้องนอกจากสีและสไตล์ที่ชอบแล้ว ควรให้มีความหนา รองรับน้ำหนักการเดิน และมีความสากเพื่อป้องกันการลื่นไถล อีกทั้ง ควรเตรียมกระเบื้องสำรองไว้ประมาณ 5-10% ของจำนวนใช้จริง เผื่อเกิดความเสียหายระหว่างการปู หรือเก็บไว้ซ่อมแซมในภายหลัง ต่อมาเลือกขนาดกระเบื้องให้เหมาะสมกับห้องภายในบ้านเช่น ห้องน้ำ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ควรใช้กระเบื้องปูพื้นแบบหยาบ หรือกระเบื้องขนาดเล็ก เพื่อให้มีร่องยาแนวถี่ๆ ป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในห้องน้ำได้ ส่วนผนังห้องน้ำสามารถเลือกใช้ผิวมันหรือผิวเรียบก็ได้
อย่างไรก็ตามสีกระเบื้องที่ใช้ในแต่ละห้องของบ้านก็ต้องเลือกที่สัมพันธ์กับการใช้งานเช่นกันห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นภายในบ้าน ควรใช้สีกระเบื้องโทนอ่อน เพื่อเพิ่มความกว้างให้ห้องที่ดูมีขนาดเล็ก แถมยังสามารถเห็นสิ่งสกปรกตามจุดต่างๆ ช่วยให้แม่บ้านทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น ใส่ลูกเล่นความสวยงามด้วยกระเบื้องที่มีลวดลายขนาดใหญ่จะช่วยให้ห้องภายในบ้านดูสบายตามากขึ้น ขณะที่กระเบื้องสีโทนเข้ม เหมาะกับโรงรถหรือระเบียง เพิ่มความแข็งแรงทนทานด้วยกระเบื้องที่มีการเคลือบพิเศษ เพราะเป็นพื้นที่ที่โดนแดด โดนลมบ่อยๆ การใช้สีเข้มจะช่วยอำพรางความสกปรก ทำให้ดูแลรักษาความสะอาดง่าย ใส่สีสันให้ไม่ดูจืดชืด ด้วยกระเบื้องที่มีลวดลายขนาดเล็ก โชว์ความสวยงามแบบเฉพาะตัวได้ด้วย
ทั้งนี้กระเบื้องที่ขายตามตลาดทั่วไปแต่ละประเภทมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกันอยู่ที่การนำมาใช้ หากเน้นความสวยงามและคงทน ก็คงเลือกใช้กระเบื้องแบบเคลือบจะดีกว่า เพราะนอกจากจะสวยงามแล้ว ยังคงทนต่อการกัดกร่อนและรอยด่าง แต่ยังมีข้อเสียอยู่คือเมื่อมีน้ำหกเลอะพื้นจะมีความลื่น หากเกิดอุบัติเหตุได้ หรือ หากเลือกใช้เป็นกระเบื้องยาง เวลาเดินจะไม่เกิดเสียงดัง และพื้นสัมผัสนุ่ม แต่ข้อเสียคือเกิดรอยขีดขวนง่าย ไม่ทนต่อการกัดกรอนของกรดและรอยด่าง นั่นเอง