“สมาคมสถาปนิกสยามฯ” เปิดงาน สถาปนิก’66 ภายใต้แนวคิด ตำถาด : Time of Togetherness
คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ประธานจัดงาน จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “การจัดงานครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 35 วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรม สร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทวิชาชีพสถาปนิกที่มีต่อสังคม ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมมากมาย โดยความพิเศษของงานสถาปนิก’66 คือมีการรวมตัวกันของ 5 องค์กรวิชาชีพ ซึ่งพื้นที่จัดงานในแต่ละสมาคมฯ และสภา จะมี ไฮไลท์ที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป โดยของทางสมาคมสถาปนิกฯ คือ ‘Human Library’ หรือห้องสมุด “มนุษย์” ที่เรารับรู้เรื่องราวในหนังสือผ่านการฟังและพูดคุยกับนักเขียนตัวจริง พบกับเหล่า “หนังสือมนุษย์” หลากหลายหมวดหมู่ ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง ประสบการณ์จริง อาทิ อมตะ หลูไพบูลย์, บูม ธริศร, จูน เซคิโน, ป๋าเต็ด – ยุทธนา บุญอ้อม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ‘All Member : Design Showcase’ นิทรรศการที่จัดแสดงผลงานการออกแบบของเหล่าสถาปนิกและนักออกแบบ ของทั้ง 4 สมาคมวิชาชีพทางด้านสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย อีกด้วยค่ะ”
คุณธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ ประธานร่วม จากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในส่วนของ TIDA กิจกรรมไฮไลท์ก็คือ จัดแสดง ‘TIDA Salone’ หรือ Design Showcase ระหว่าง ดีไซเนอร์กับซัพพลายเออร์วัสดุหนึ่งชนิด และผู้รับเหมาอีกหนึ่งราย ทำห้องต่างๆ ขึ้นมาให้ได้เดินชมกัน และภายในงานนี้ยังมีการมอบรางวัล TIDA Thesis Awards ประกวดผลงานธีสิสของนิสิตนักศึกษา และ TIDA Awards สำหรับมืออาชีพ ซึ่งต้องบอกเลยว่าผลงานทุกคนในปีนี้ตัดสินยากมาก นอกจากนี้ TIDA ยังได้เตรียมกิจกรรม TIDA Talk ให้ผู้ที่สนใจได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานการออกแบบภายใน เรื่องมุมมองหรือวิธีดำเนินการที่น่าสนใจ ในโซน TIDA SOCIETY แวะมาเจอกันได้ตลอดทั้งการจัดงานเลยค่ะ”
คุณมังกร ชัยเจริญไมตรี ประธานร่วมจาก สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย กล่าวว่า “ในงานสถาปนิก’66 นี้ TALA เป็นการโชว์เคสที่สำคัญทางด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมของเมืองไทยและภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เห็นภาพและเข้าใจงานภูมิสถาปนิกมากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอผ่านพื้นที่ “TALA CLASSROOM” ให้ทุกคนได้เข้ามานั่งคุย นั่งเล่น นั่งฟัง ในรูปแบบอารีน่าที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับภูมิสถาปนิก ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกันเองเหมือนเพื่อนๆ มานั่งแชร์ข้อมูลกัน เรียนเชิญทุกท่านได้ที่บูธของ TALA ครับ”
ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานร่วม จากสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวว่า “พื้นที่การจัดแสดงของ TUDA ในงานสถาปนิก’66 เราจะมี โซน TUDA ZEB (แซบ) การจัดแสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานออกแบบและการศึกษาวิจัยจากสถาบันการศึกษา โซน TUDA X Muang (เมือง) การจัดแสดงผลงานการประกวดแบบเมืองพัทยา และเมืองอื่นๆ ที่ TUDA ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมการพัฒนาเมือง โซน TUDA X Mhu (หมู่) หรือ TUDA and Friends การจัดแสดงงานของหน่วยงาน บริษัทที่มีผลงานโดดเด่น ด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง โซน TUDA Khak (คัก) โชว์เคส โชว์คัก ผลงานการออกแบบเมือง ที่เป็นผลงานของสมาชิก TUDA และ โซน TUDA Muan (ม่วน) พื้นที่ให้สมาชิกได้พัก นั่งพูดคุย และจัดเสวนากัน”
คุณกรกช คุณาลังการ ประธานร่วมจาก สภาสถาปนิก กล่าวว่า “สำหรับกิจกรรมที่สภาสถาปนิกเตรียมไว้คือ ASA ACT Forum’23 โดยจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือ เราต้องการให้สถาปนิกทุกสาขาและประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงวิชาชีพมากขึ้นทั้ง 4 สาขา ดังนั้นในภาพใหญ่ก็อยากให้สังคมหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งสถาปัตยกรรมหลัก, สถาปัตยกรรมผังเมือง, ภูมิสถาปัตยกรรม, สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ในการทำงานร่วมกันในลักษณะการ “Collaboration” ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีคิดเรื่องหัวข้อที่จะใช้พูดคุยในงานสัมมนา โดยภายในงานจะได้พบกับวิทยากรจากประเทศไทยและประเทศต่างๆ อีก 3 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25-30 เมษายนนี้”
คุณศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะ ออแกไนเซอร์จัดงานสถาปนิก’66 เปิดเผยว่า “สำหรับงานสถาปนิก’66 ปีนี้จัดบนพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร โดยมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการด้านการออกแบบและก่อสร้างจากภายในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 800 บริษัท ที่สำคัญคือได้รับความสนใจจากต่างชาติเข้าร่วมแสดงสินค้ามากขึ้น 7 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 21.33% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผู้ประกอบการจากออสเตรเลีย จีน ฟินแลนด์ ฮ่องกง อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ทางด้านผู้จัดแสดงสินค้าในประเทศไทยก็ได้เตรียมเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ภายในงานด้วยเช่นกัน อาทิแบรนด์ SCG, TOA, VG, MAKITA, JORAKAY, TOSTEM, GREENLAM, DOS, ADVANCED MATERIAL และอื่นๆ อีกมากมาย