• 22 พฤศจิกายน 2024
  • Thailand

CPAC Green Solution กระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างทุกภาคส่วนมุ่งสู่ NET ZERO

CPAC Green Solution  กระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างทุกภาคส่วนมุ่งสู่ NET ZERO





CPAC Green Solution จัดงาน Thailand The New Chapter of Green Construction Forum 2023 รวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง สู่อุตสาหกรรมก่อสร้างสีเขียวอย่างยั่งยืน







นายชนะ ภูมี Vice President Sustainability SCG กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน พร้อมเผยว่า SCG ตั้งเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 สำหรับธุรกิจซีเมนต์ได้ใช้แนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกตาม 7 Levers ใน Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Global Cement & Concrete Association (GCCA) ซึ่งหนึ่งใน Lever สำคัญที่จะลดก๊าซเรือนกระจก คือ Efficiency in Design and Construction โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการก่อสร้างผ่านการออกแบบ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ เป็นต้น




“SCG มองเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นเรื่องระยะยาว และไม่ใช่แค่ SCG ที่ทำแต่เราพยายามพา Stakeholders และร่วมมือกับทุกภาคส่วนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่   1.มุ่ง Net Zero  2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ และ 4.ย้ำร่วมมือ” นายชนะ กล่าว








ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 105 ล้านตัน หรือ 28% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2562 (2019) ในขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยอยู่ที่ 39% หากอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ การที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยตั้งเป้าไม่ให้อากาศสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส 






“งานวันนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่เน้นย้ำความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2593 (2050) ได้สำเร็จ และคงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้เท่าเทียมหรือนำหน้าประเทศอื่น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงให้ประเทศเรา” ดร.พิรุณ กล่าว







ดร.แอนดรูว์ มินสัน Concrete and Sustainable Construction Director จาก Global Cement and Concrete Association (GCCA) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตที่ได้จัดทำ Net Zero Roadmap สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก พร้อมทั้งได้นำเสนอรายละเอียดแนวทางการลดคาร์บอนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตาม 7 Levers ของ GCCA พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงบทบาทของผู้เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างที่จะช่วยผลักดันไปสู่การก่อสร้างสีเขียวมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “How to execute green construction in Thailand” โดยมี รศ.ดร.สมิตร  ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, นายสุเมธ  มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environment Social Governance & Business Stakeholder Engagement บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ร่วมเสวนา 













โดยบนเวทีเสวนา ดร.สมิตร กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังหลังการประชุม COP26 โดยมีการออกข้อกำหนดการก่อสร้าง (Building Code) เช่น ข้อกำหนดด้านโครงสร้างคอนกรีต และข้อกำหนดด้านโครงสร้างเหล็ก ข้อกำหนดด้านวัสดุ เป็นต้น นอกจากนี้ทางวิศวกรรมสถานฯกำลังเร่งทำเรื่อง High Performance Concrete ให้เสร็จปีนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดีและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง




นายสุเมธ กล่าวว่า ทางกระทรวงมหาดไทยให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเต็มที่ โดยพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในฐานะผู้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำกับดูแล คือ จะทำอย่างไรให้การออกกฎหมายสอดคล้องและก้าวทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะปกติการออกกฎหมายแต่ละฉบับจะใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะทางกระทรวงฯ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ และมีผลกระทบในวงกว้างครอบคลุมตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ 




นางสาวลิซ่า กล่าวถึง ความท้าทายหลัก 3 ประการที่ทำให้การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เป็นรูปธรรมช้ากว่าที่ควร ได้แก่ 1.ความท้าทายด้านการเงิน ต้นทุนในการก่อสร้างแบบกรีนมักจะสูงกว่าต้นทุนการก่อสร้างแบบทั่วไป 2. ความท้าทายด้านการศึกษา บุคลากรในวงการก่อสร้างมักขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสถาบันการศึกษาพัฒนาบุคลากรไม่ทันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และ 3.ความท้าทายด้านความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ที่ผ่านมาทางภาครัฐมักออกกฎระเบียบเพื่อควบคุม แต่ไม่มีมาตรการเชิงบวกในการจูงใจคนให้ลงทุนกับเรื่องนี้ เช่น การลดภาษีสำหรับโครงการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 





นายชูโชค กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมูลค่าของของเสีย (Waste) จะอยู่ที่ 10-30% หรือเฉลี่ยสองแสนล้านบาทต่อปี หากเรา Turn Waste To Value ได้ ก็จะเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาล  ทั้งในแง่ของรายได้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สามารถทำได้ โดยการก่อสร้างที่เน้นทำงานนอกไซต์งาน เพื่อลดระยะเวลาและสามารถควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน การทำงานแบบ Modularity คือ การทำงานแบบแยกส่วนงานแล้วเข้ามาต่อเชื่อมที่หน้างาน การนำ Digital และ Technology เข้ามาช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก่อสร้าง สร้างความเชื่อมโยงในการทำงานร่วมกัน และสุดท้ายคือการยกระดับทักษะ ทั้งผู้ที่ทำงานอยู่ใน




ปัจจุบันและนักศึกษาที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต นอกจากนี้ควรสร้างความสมดุลระหว่างภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อมให้ไปด้วยกันได้ และต้องเน้นที่การลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง  จากนั้นในช่วง Showcase Implementation : Innovation in Green Construction โดย นางสาววลัย เจริญพันธ์ BIM & Digital Advisory Lead บริษัท โอฟ อาหรุบ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบชั้นนำระดับโลกได้ยกตัวอย่างการนำนวัตกรรมไปใช้ผ่านกรณีศึกษาในต่างประเทศ เช่น โครงการ Shougang Industry Services Park ในประเทศจีน ซึ่งเป็น Climate Positive โครงการแรกในประเทศจีน มีการออกแบบให้เป็น Net Zero ทั้งภายในและบริเวณรอบนอกโครงการ และมีการวางระบบให้เป็น Sponge City ไม่ปล่อยน้ำที่มีการปนเปื้อนลงในแม่น้ำ หรือโครงการ AIRSIDE ในฮ่องกง ที่ทาง โอฟ อาหรุบ เป็นผู้ออกแบบโดยคำนึงถึงเรื่อง well-being และมีการใช้เทคโนโลยี Digital Twin เข้ามาใช้ในการบริหารโครงการ เป็นต้น





ดร.กฤษฎา ศรีสมพร Green Construction Group Leader บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ขึ้นเวทีพูดถึงนวัตกรรมเพื่อรองรับการเป็น Green Construction โดยยกกรณีศึกษาสะพานเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งออกแบบและก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี UHPC (Ultra-high Performance Concrete) 3D Printing และ BIM (Building Information Modeling) จนกลายเป็นสะพานคอนเกรีตที่บางที่สุดแห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน 





แม้ว่าประเทศไทยจะยังต้องเจอความท้าทายอีกมากมายเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและ Net Zero ตามที่ประกาศไว้ แต่ก็เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และมีส่วนร่วมกับจุดยืนของประเทศไทยต่อประชาคมโลกในการยกระดับเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 (2050) เพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 (2065) ในทุกสาขา ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ