• 12 ธันวาคม 2024
  • Thailand

ปี 2565 ราคาน้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด ส่งผลเบนซินไทยปรับราคา รัฐแก้ปัญหาตรึงราคาดีเซล คุมราคาน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแนะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

ปี 2565 ราคาน้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด ส่งผลเบนซินไทยปรับราคา รัฐแก้ปัญหาตรึงราคาดีเซล คุมราคาน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแนะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

ปี 2565 ราคาน้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด ส่งผลเบนซินไทยปรับราคา รัฐแก้ปัญหาตรึงราคาดีเซล
คุมราคาน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแนะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน


จากรายงานเดือน ม.ค. 65 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดูเหมือนว่า ราคาน้ำมันโลกจะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สำหรับประเทศไทยเองสถานการณ์ราคาน้ำมันปลีกมีการปรับราคาเป็นระยะ โดยเฉพาะน้ำมันกลุ่มเบนซิน ขณะที่ดีเซลรัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกและไทยเผชิญกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยกดดันให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลำบาก เพราะเกี่ยวข้องกับค่าขนส่ง วัตถุดิบต่างๆ และค่าไฟ ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 64 ไทยอยู่ที่ 2.7% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐดูแลระดับราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ควรพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตลงมาบ้างเป็นการชั่วคราวก็จะบรรเทาผลกระทบประชาชนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบที่ไทยต้องนำเข้าเฉลี่ยถึง 90% เป็นมาตรการระยะกลางและยาว ก็จะช่วยแก้ปัญหาพลังงานในประเทศได้อย่างดี

ขณะที่นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย มองว่า จากการที่รัฐได้ตรึงดีเซลไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาทพร้อมกับการลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B 100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ 7% (B 7) 10% (B 10) และ 20% (B 20) ให้มีสัดส่วนผสมเดียว คือ 7% (B 7) เป็นเวลา 4 เดือน (ธ.ค. 64-มี.ค. 65) ควรเน้นทำให้รายได้ของคนไทยหรือภาคเกษตรกรเพิ่มขึ้นดีกว่า ส่วนราคาน้ำมันหรือสินค้าที่แพงก็คงไม่ใช่ปัญหา

ราคาปาล์มทะลายเฉลี่ยอยู่กิโลกรัม (กก.) ละ 11 บาทซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 10 ปี และล่าสุดบางพื้นที่ขยับไปสู่ 12 บาท/กก. ด้านราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 55-56 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตออกล่าช้ากว่าปกติ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเผชิญกับภัยแล้งต่อเนื่อง และรัฐกังวลว่าผลผลิตปาล์มที่ทยอยออกมาช่วง ก.พ.-มี.ค.ของทุกปีจะเป็นช่วงราคาตกต่ำจึงทำให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศ

แม้ว่าปีนี้ราคาปาล์มจะสูง แต่ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยปรับขึ้นไปมากกว่าเท่าตัว และที่ผ่านมาเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะเดียวกัน น้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรในตลาดเป็นสินค้าควบคุมแต่มีการอิงปาล์มทะลาย และ CPO ที่สูง รัฐจำเป็นจะต้องดูแลระดับราคาทั้งห่วงโซ่การผลิตให้เหมาะสมและสอดคล้องข้อเท็จจริงโดยไม่เอาเปรียบผู้บริโภคและเกษตรกร