ตลาดอสังหามือสองปรับราคาลดลง แนะรัฐกระตุ้นการซื้อขาย ลดค่าโอน-จดจำนอง
ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสองคึกคักอย่างมากโดยเฉพาะโซนรังสิต – นครนายก แต่หลังจากโควิด-19 กลับมารุนแรงขึ้นดูเหมือนว่าราคาจะมีการปรับลดลงอีก ซึ่งสวนทางกับราคาที่ดินในย่านใจกลางเมือง จากข้อมูลศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า ตลาดบ้านมือสอง เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีการเสนอขายเฉลี่ยเดือนละ 113,211 หน่วย รวมมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 842,253 ล้านบาท การโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองมีสัดส่วนเฉลี่ย 10.9% ต่อเดือน เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยที่ประกาศขาย
บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัดหรือเทอร์ร่า บีเคเค เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์ ในปี 2564 จากข้อมูลบ้านมือสองในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ลงประกาศขายใน TerraBkk จำนวน 170,000 ทรัพย์ พบว่า ราคาคอนโดมิเนียมปี 2563 ปรับตัวลดลง 6.5% ราคาเฉลี่ย 4.39 ล้านบาท หรือ 88,000 บาทต่อตร.ม. คอนโดมิเนียม ทำเลใจกลางเมือง เช่น สีลม-สาทร-พระราม 3 ราคายังคงปรับตัวสูงอยู่ที่ 140,000 – 160,000 บาทต่อตร.ม. ส่วนสุขุมวิท – ทองหล่อ ราคายังทรงตัว 160,000 บาทต่อตร.ม.ด้านทำเลเอกมัย-พระราม 4 ราคาปรับตัวลดลงเฉลี่ย 100,000 – 120,000 บาทต่อตร.ม. และย่านรัชดาฯ-ห้วยขวาง ราคาลดลงเฉลี่ย 80,000 บาทต่อตร.ม.
ส่วนบ้านเดี่ยว ทำเลที่มีการปรับราคาลดลง คือ คลองหลวง-ปทุมธานี ราคาเฉลี่ย 4.2 ล้านบาท , ทุ่งครุ่-ราษฎร์บูรณะ ราคาเฉลี่ย 3.9 ล้านบาท,สะพานสูง-มีนบุรี ราคาเฉลี่ย 4.95 ล้านบาท และ สมุทรสาคร ราคาเฉลี่ย 4.5 ล้านบาท ขณะที่ทาวน์โฮม ทำเลที่มีการปรับราคาปรับลดลง ได้แก่ แจ้งวัฒนะ-ดอนเมืองราคาเฉลี่ย 2.98 ล้านบาท ,ราชพฤกษ์-นครอินทร์ ราคาเฉลี่ย 1.8 ล้านบาท , เอกชัย-บางบอน 1.8 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอสังหาริมทรัพย์มือสองที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาทในย่านเกษตรนวมินทร์-รามอินทรา , กัลปพฤกษ์-สาทร , จตุจักร-ประชาชื่น , พระราม2-บางขุนเทียน ราคายังปรับตัวสูงขึ้น เช่นกัน สำหรับ การซื้อขายบ้านมือสอง แนวโน้มราคาที่ลดลงในปีนี้ เกิดจากผ่อนชำระไม่ไหว เลยกดดันให้ผู้ขายยอมลดราคาลงเพื่อจะได้ปลอดหนี้ ซึ่งเกิดในรอบนอกเมืองมากกว่าใจกลางเมือง ดังนั้น นโยบายช่วยเหลือด้านการซื้อขายบ้านมือสอง ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง ให้เทียบเท่าโครงการใหม่น่าจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์มือสองได้ดี