คาดเงินเฟ้อครึ่งปีหลังเป็นบวก หลังน้ำมัน-อาหารสดปรับตัวสูงต่อเนื่อง มั่นใจยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด
หลังโควิด-19 ระลอก3 ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศต้องชะงัก รัฐบาลพยายามออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าไหร่ จนต้องยอมเปิดประเทศเพื่อหวังเงินจากภายนอกเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันในประเทศยังต้องเฝ้าระวังอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 99.55 เทียบกับเดือนเม.ย.64 ลดลง 0.93% แต่เทียบกับเดือน พ.ค.63 เพิ่มขึ้น 2.44% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอลง ส่วนดัชนีเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.83% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน หลังจากหักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกจากการคำนวณ พบว่า เดือน พ.ค.64 ดัชนีอยู่ที่ 100.45 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.64 แต่เพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.63 และเฉลี่ย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 0.23% มาจากราคาพลังงาน 24.79% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 36.49% และกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อหมู อาหารทะเล ผลไม้ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามมาตรการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาของรัฐบาล และการลดราคาอาหารสดบางชนิด เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ ผักสด ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่เพิ่มสูงเร็วเกินไป
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.64 มีสินค้าที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น 220 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา น้ำมันพืช เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ข้าวราดแกง เงาะ กล้วยน้ำว้า, ราคาลดลง 141 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว พริกสด หอมแดง ผักชี มะเขือ แตงกวา กระเทียม ชะอม เป็นต้น และไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการ สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.64 คาดว่าจะยังคงเป็นบวก แต่ไม่สูงเท่ากับเดือน พ.ค.64 โดยไตรมาส 2 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.30% ส่วนไตรมาส 3 และ 4 ยังเป็นบวกอยู่ แต่จะค่อยๆลดลง ขณะที่ เงินเฟ้อในปี 64 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7–1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เหมาะสม มองว่า ภาวะเงินฝืดไม่น่าเกิดขึ้น เนื่องจากสินค้าและบริการยังสูงอยู่