ใบประกอบวิชาชีพ วิศวกรรม ระดับไหน สามารถเซ็นต์สร้างตึกได้ ?
หนึ่งในอาชีพที่หลายๆคนใฝ่ฝันและอยากเป็นนอกเหนือจากหมอ ครู พยาบาล คงจะเป็นวิศวกร แต่จะเป็นวิศวกรก่อสร้างได้ ต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมก่อนถึงจะสามารถทำงานได้ ซึ่งใบประกอบวิชาชีพแต่ละใบก็มีข้อกำหนดในการสอบและขอบเขตในการทำงานที่แตกต่างกัน วันนี้เรามาดูกันว่าใบประกอบวิชาชีพแต่ละแบบเป็นอย่างไร สามารถทำงานอะไรได้บ้าง
ลักษณะงานทางวิศวกรรมก็แบ่งออกเป็น 6 ด้านคือ งานให้คำปรึกษา, งานวางโครงการ , งานออกแบบ/คำนวณ , งานควบคุมการสร้าง/ การผลิต , พิจารณาตรวจสอบและงานอำนวยการใช้ ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมก็มี 4 ระดับ ได้แก่
1. วุฒิวิศวกร สำหรับวิศวกรผู้มีประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไปยื่นผลงาน และผ่านการทดสอบและสัมภาษณ์ ประเภทงานด้านอาคารและอาคารสาธารณะ สามารถทำงานทางวิศวกรรมได้ทุกด้าน
2. สามัญวิศวกร สำหรับวิศวกรผู้มีประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไปยื่นผลงาน ผ่านการทดสอบและสัมภาษณ์ ประเภทงานด้านอาคาร และอาคารสาธารณะ ทำงานได้ทุกด้านยกเว้นงานให้คำปรึกษา
3. ภาคีวิศวกร ผู้ที่ผ่านการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วศ.บ. คอ.บ. และ อศ.บ. (อุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต) ยื่นขอใบอนุญาตได้ หากสถาบันการศึกษานั้น ๆ ได้รับการรับรองของสภาวิศวกร
ประเภทงานด้านอาคาร ทำงานพิจารณาตรวจสอบ และ อำนวยการใช้ ส่วนงานออกแบบ/คำนวณ สามารถทำได้กับตึกที่มีความสูงไม่เกิน4 ชั้น, ชั้นใดชั้นหนึ่งมีความยาวไม่เกิน 5 เมตร หรือมีช่วงคานยาวทุกขนาด และงานควบคุมการก่อสร้างทำได้เฉพาะตึกที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ยกเว้นงานให้คำปรึกษาและงานวางโครงการ ขณะที่ประเภทงานด้านอาคารสาธารณะ ทำงานพิจารณาตรวจสอบ และ อำนวยการใช้ ส่วนงานควบคุมการก่อสร้างทำได้เฉพาะตึกที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ยกเว้นงานให้คำปรึกษา งานวางโครงการ และงานออกแบบ/คำนวณ
4. ภาคีวิศวกรพิเศษ เป็นผู้ที่อาจเรียนมาน้อยแต่ประสบการณ์สูงมีความถนัดงานก่อสร้างด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรพิเศษนี้จะอนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาตทำการก่อสร้างได้แค่ด้านใดด้านหนึ่งที่ขอไปเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นงานในระดับเล็ก ๆ เช่น สร้างสะพาน ถนน หรืออาคารขนาดเล็ก
ทั้งนี้ที่ผู้ที่ขอใบอนุญาต สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดการยื่นสมัครสอบใบอนุญาตวิชาชีพวิศวกรรมได้ที่ เว็บไซต์ สภาวิศวกร