• 22 พฤศจิกายน 2024
  • Thailand

10 วิธีดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดก่อนหยุดยาวสิ้นปี

10 วิธีดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดก่อนหยุดยาวสิ้นปี

10 วิธีดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดก่อนหยุดยาวสิ้นปี


ใครที่มีแพลนเดินทางไปจังหวัดอื่น เพื่อกลับบ้านหรือฉลองปีใหม่กับครอบครัว คงต้องดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านก่อนออกจากบ้านเมื่อไม่อยู่บ้านเป็นเวลานาน การดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้เพราะ อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายได้ วันนี้เรามีวิธีตรวจเช็คและการใช้งาน รวมถึงดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมาฝากกันก่อนหยุดยาวสิ้นปี

  1. ตู้เย็น หรือตู้แช่ ต้องตรวจสอบว่ามี กระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ โดยใช้ไขควงเช็คไฟ หากพบว่ามีกระแสไฟรั่วให้นำแผ่นฉนวน เช่น แผ่นยาง แผ่นพลาสติก ปูบริเวณหน้าตู้เย็นหรือตู้แช่ และยืนอยู่บนแผ่นฉนวนดังกล่าวเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าดูด จากนั้นรีบติดต่อช่างเพื่อดำเนินการแก้ไข เช่นเดียวกันเมื่อไม่อยู่บ้านเป็นเวลานานควรเคลียร์ของในตู้เย็น จากนั้นถอดปลั๊กออกให้เรียบร้อย ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วอีกทางหนึ่ง
  2. เครื่องปรับอากาศ ในขณะใช้งานหากมีเสียงดังมากผิดปกติ ควรให้ช่างตรวจสอบและแก้ไข และไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้เป็นเวลานาน ส่วนพัดลมมีเสียงดังผิดปกติ กลิ่นไหม้ หรือหยุดหมุนมีเสียงครางให้หยุดใช้พัดลมทันที และนำไปตรวจซ่อมแก้ไข รวมถึงตรวจสอบปลั๊กเสียบของพัดลมต้องไม่แตกร้าว สายที่ขั้วปลั๊กไม่หักพับเปื่อยชำรุดเมื่อเลิกใช้งานทุกครั้ง ให้ดึงปลั๊กเสียบออก
  3. หม้อหุงข้าว การใช้หม้อหุงข้าวให้ใส่หม้อหุงข้าวตัวในพร้อมปิดฝาแล้วจึงเสียบปลั๊กใช้งาน และหากจับยกถือหม้อหุงข้าวให้ถอดปลั๊กให้เรียบร้อยก่อน ขณะเดียวกัน เมื่อเลิกใช้งานต้องถอดปลั๊กออก
  4. กาต้มน้ำไฟฟ้า เนื่องจากกาต้มน้ำไฟฟ้าใช้กระแสไฟจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนที่ปลั๊กเสียบสูงควรเสียบปลั๊กเข้ากับเต้ารับให้แน่น และวางไว้บนแผ่นกระเบื้องหรือแก้ว ขณะใช้งาน ต้องระวังอย่าให้น้ำในกาต้มน้ำไฟฟ้าแห้ง ขณะที่เตาหรือกะทะไฟฟ้า ต้องไม่วางอยู่บนพื้นที่ติดไฟและอยู่ใกล้สารไวไฟ ระวังอย่าตั้งสิ่งหุงต้มบนเตาหรือกะทะไฟฟ้า ทิ้งไว้นาน เพราะอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้ เมื่อเลิกใช้งาน ต้องถอดปลั๊กเสียบออกทุกครั้ง
  5. เตารีด ปลอกฉนวนยางที่หุ้มสายไฟเข้ากับเตารีดอย่าให้เปื่อย ชำรุด เมื่อเลิกใช้งาน ต้องถอดปลั๊กเสียบออกทันที และไม่ควรวางเตารีดใกล้วัตถุที่ติดไฟง่าย
  6. เครื่องดูดฝุ่น อย่าใช้เครื่องดูดฝุ่นติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะเครื่องจะร้อนอาจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้ รวมถึงหมั่นเทฝุ่นในถุงกรองทิ้ง จะช่วยให้เครื่องทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  7. เครื่องเป่าผมไฟฟ้า เต้าเสียบของเครื่องเป่าผม ต้องไม่แตกร้าว ไม่มีรอยไหม้ และสายไฟฟ้า ต้องไม่แตกเปื่อยยุ่ย
  8. โทรทัศน์ ไม่ควรตรวจซ่อมโทรทัศน์ด้วยตนเอง เนื่องจากมีกำลังไฟฟ้าแรงสูงอยู่ในโทรทัศน์ หากพบว่าโทรทัศน์เปิดไม่ติด มีเสียงไม่มีภาพควรถอดปลั๊กและยกไปซ่อมทันที
  9. เครื่องซักผ้า ตรวจสอบ ปลั๊กเสียบของเครื่องซักผ้า ต้องไม่แตกร้าว สายที่ขั้วปลั๊กไม่หักพับและเปื่อยชำรุด รวมทั้งเมื่อทำการเสียบปลั๊กเข้ากับเต้ารับต้องให้แน่น เมื่อเลิกใช้งานต้องถอดปลั๊กเสียบออกทันที
  10. เครื่องปั๊มน้ำไฟฟ้า เมื่อเปิดใช้งานพบว่า มีเสียงดังผิดปกติหรือไม่สามารถปั๊มน้ำขึ้นได้ ห้ามใช้งานและดำเนินการตรวจสอบเครื่องปั๊มน้ำทันที เมื่อเลิกใช้งานให้ปิดสวิตช์ และถอดปลั๊กเสียบออกทุกครั้ง

เท่านี้ก็สามารถรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆให้สามารถใช้ได้ยาวนาน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือเมื่อเลิกใช้งานต้องถอกปลั๊กออกทุกครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่รักษาความปลอดภัยในเกี่ยวกับไฟฟ้าได้ดีที่สุด