• 21 พฤศจิกายน 2024
  • Thailand

ใบประกอบวิชาชีพ วิศวกร – สถาปนิกมีอะไรบ้าง ?

ใบประกอบวิชาชีพ วิศวกร – สถาปนิกมีอะไรบ้าง ?

ใบประกอบวิชาชีพ วิศวกร – สถาปนิกมีอะไรบ้าง ?


เคยสงสัยกันไหม ว่าอาชีพวิศวกร หรือสถาปนิก จบมาแล้ว ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพก่อนถึงจะสามารถทำงานได้ ใครที่อยากทำงานอาชีพนี้ในอนาคต ต้องลองศึกษากันดูว่า ใบประกอบวิชาชีพของอาชีพเหล่านี้มีอะไรบ้าง แล้วเราควรจะขอประเภทไหนดี วันนี้เรามาหาคำตอบกัน

เริ่มกันที่อาชีพ วิศวกร จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือที่เรียกกันว่าใบกว. ถ้าถามว่าคนที่เรียนวิศวกรทุกคนจำเป็นต้องมีใบอนุญาตทุกคนหรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็นต้องมีทุกคน ส่วนใหญ่ที่มีการสอบเพื่อให้ได้ใบวิชาชีพจะเป็นสาขา วิศวกรรมควบคุม เช่น วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม รวมถึงสาขาที่กฏกระทรวงกำหนดตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ออกโดยสภาวิศวกร

ปัจจุบันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมมี4 ระดับ ตามขอบเขตของงานและความรับผิดชอบ

  1. วุฒิวิศวกร สำหรับวิศวกรผู้มีประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไปยื่นผลงาน และผ่านการทดสอบและสัมภาษณ์ สามารถเป็น ที่ปรึกษาโครงการได้
  2. สามัญวิศวกร สำหรับวิศวกรผู้มีประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไปยื่นผลงาน ผ่านการทดสอบและสัมภาษณ์
  3. ภาคีวิศวกร คือผู้ที่ผ่านการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วศ.บ. คอ.บ. และ อศ.บ. (อุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต) สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ หากสถาบันการศึกษาได้รับการรับรองของสภาวิศวกร
  4. ภาคีวิศวกรพิเศษ ผู้ที่ขอใบอนุญาตระดับนี้ เป็นผู้ที่อาจเรียนมาน้อยแต่ประสบการณ์สูงมีความถนัดงานก่อสร้างด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรพิเศษนี้จะอนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาตทำการก่อสร้างได้แค่ด้านใดด้านหนึ่งที่ขอไปเท่านั้น เช่น สร้างสะพาน ถนน หรืออาคารขนาดเล็ก

ด้านสถาปนิก จะเป็นการออก ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม หรือ ใบ ก.ส. เป็นเอกสารรับรองของสถาปนิกในการออกแบบและเซ็นรับรองแบบ ที่รับรองโดยสภาสถาปนิก ได้แก่สาขา สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ สถาปัตยกรรมผังเมือง และ ภูมิสถาปัตยกรรม ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2549) ว่าด้วยการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หากไม่มีใบประกอบวิชาชีพแล้วประกอบวิชาชีพ จะมีบทลงโทษ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สถาปนิก (2543) [4] จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ 2 อาชีพดังกล่าวเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินของสาธารณชน จึงจำเป็นต้องรับการอบรมด้านจรรยาบรรณ ความปลอดภัย กฎหมายท้องถิ่นเกี่ยวกับงานวิศวกรรม และสถาปนิก ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทักษะวิศวกรรมและสถาปนิก ก่อนถึงจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย