ธนาคารงัดมาตรการพักชำระหนี้ 3 เดือน ช่วยลูกหนี้สู้โควิด-19 ได้จริงหรือไม่
หลังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. หารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการทางการเงินอื่นผ่านสมาคมและชมรมต่าง ๆ รวม 9 แห่งกำหนดมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563
ทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่พักชำระเงินต้น จนถึงพักชำระหนี้ 3 เดือนไปเลย โดยไม่ต้องไปติดต่อทำเรื่องที่ธนาคารให้วุ่นวาย แต่ถ้าอ่านรายละเอียดดีๆ แล้ว จะเห็นว่ามาตรการต่างๆ นั้น แทบจะช่วยได้น้อยมาก ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจการพักชำระหนี้ก่อนว่าคืออะไร พักชำระหนี้ คือ งวดที่ได้รับการพักชำระนั้น ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ธนาคารจะยังคิดดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ แล้วค่อยมาเก็บดอกเบี้ยในภายหลัง
ซึ่งส่วนใหญ่มาตรการที่ออกมาจะเป็นเช่นนั้นเพราะดอกเบี้ยเงินกู้คือรายได้หลักของธนาคาร ถ้าจะให้ไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือหยุดเก็บดอกเบี้ยเงินฝากหุ้นกู้ อาจจะทำให้ธนาคารต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ จึงทำได้เพียงแค่พักชำระค่างวด และไม่ปรับเรทดอกเบี้ย ให้เป็นเรทดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ซึ่งเป็นเรทที่ค่อนข้างสูงเท่านั้น
ทั้งนี้จะห้ามไม่ให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 ปฎิเสธ มาตรการต่างๆ ที่ธนาคารออกมาเลยก็คงไม่ได้ เพราะ ช่วยบ้างก็ยังดีกว่าไม่ช่วยอะไรเลย ยิ่งตอนนี้สถานการณ์อยู่บนความไม่แน่นอนทุกวัน ไม่รู้บริษัทจะเลิกจ้างงานเมื่อไหร่ ถึงแม้จะเป็นแค่เลื่อนการชำระออกไป แต่พอสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงพักชำระ จะถูกนำมาเรียกเก็บย้อนหลังก็ตาม
หากอยากให้การพักชำระหนี้ได้ผล อย่าลืมอ่านรายละเอียดให้ชัดเจนทุกเงื่อนไของธนาคาร หรือเลือกมาตรการที่เป็นประโยชน์กับเรามากที่สุด หรือหากใครพอจ่ายหนี้สินในงวดปกติได้ก็ควรทำดีกว่าเพื่อไม่ให้เพิ่มปัญหาและภาระในอนาคต