วางผังเมือง สร้างรากฐานพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ
การพัฒนาเมือง ที่มาพร้อมกับการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ตลอดจนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม จำเป็นต้องมีการวางแผนการจัดการที่ดี เพื่อสร้างความสมดุลที่จะเกิดขึ้นพร้อมการพัฒนา ระหว่างคนและการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เกิดขึ้น ดังนั้นการวางระบบ ขอบเขต และแนวทางของผังเมืองจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
สำหรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการนำเสนอแนวทางในปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในอนาคตในเขตพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ พื้นที่กลุ่มกรุงธนเหนือ นำเสนอแนวคิดในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับระบบขนส่งมวลชนทางรางสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีส้ม สายสีแดง สายสีม่วง และสายสีทอง การพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมรองวงเวียนใหญ่ ย่านพาณิชยกรรมบริเวณพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร และการพัฒนาศูนย์ชุมชนเกษตรกรรม
นอกจากนี้ยังได้จำแนกที่ดินสำหรับการใช้ประโยชน์ในประเภทต่าง ๆ เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขลักษณะความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม รวมถึงควบคุมความหนาแน่นของประชากรและอาคาร โดยอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) และอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม(OSR) โดยมีเงื่อนไขการให้อนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินอาทิ ขนาดเขตทางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 10เมตร 12 เมตร 16 เมตร และ 30 เมตร ระยะห่างจากสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไม่เกิน 500 เมตร 650 เมตร และ 800 เมตร หรือระยะห่างจากสถานีรวมไม่เกิน800 เมตร ส่งเสริมให้มีพื้นที่จอดรถยนต์ (Park and Ride) บริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นต้น ทั้งนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ในส่วนของจังหวัดปริมณฑล เช่น นนทบุรี ก็มีการปรับปรุงและแก้ไขผังเมืองจังหวัด ให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่อยู่ในเขตจ.นนทบุรี เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า การกำหนดเขตเกษตรกรรม เพื่อรักษาพื้นที่การเกษตรในจังหวัด อาจจะมีการปรับ FAR จากเดิม 10 ต่อ 1 เหลือ 7 ต่อ 1 พื้นที่ในซอยที่มีขนาดถนนกว้าง 6 เมตร ที่เคยพัฒนาอาคารสูง 8 ชั้น หรือมีพื้นที่ 10,000 ตร.ม. จะไม่สามารถก่อสร้างหรือพัฒนาได้ โดยจะเปลี่ยนเป็นให้พัฒนาโครงการแนวสูงได้เฉพาะโครงการที่ติดถนนกว้าง 10 เมตร และทำได้ในเฉพาะพื้นที่ที่ติดแนวรถไฟฟ้าไม่เกิน 300 เมตร คาดว่าจะมีการประกาศใช้เร็ว ๆ นี้
การวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นรากฐานในการพัฒนาเมืองอย่างมั่นคง และเกิดความสมดุลระหว่างผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ได้