เงินเฟ้อ-เงินฝืด ต่างกันอย่างไร?
เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง จากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมชะลอตัวลง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้การบริโภคของภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ โดยภาคการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐหดตัว รวมไปถึงการส่งออกสินค้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงตาม สำหรับด้านท่องเที่ยวก็ไม่เติบโตเช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป สำหรับด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอตัวลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง
โดยคำศัพท์ที่เราได้ยินบ่อยที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจนั่นก็คือเงินเฟ้อ และเงินฝืด ทีม Thai Contractor จะมาทำความเข้าใจและรู้จักสภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดให้มากยิ่งขึ้น เงินเฟ้อ หรือ Inflation หมายถึง สภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปของประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง เมื่อ 5 ปีก่อนซื้อข้าวแกงในจำนวนเงิน 30 บาท ได้ข้าวแกงเต็มจาน ปัจจุบันเมื่อซื้อข้าวแกงในจำนวนเงิน 30 บาท อาจจะได้ข้าวแกงครึ่งจานหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่ามูลค่าของเงิน 5 ปีก่อนกับปัจจุบันมีมูลค่าลดลงซึ่งเป็นการพิจารณาจากค่าของเงิน โดยหมายถึงภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งนี้หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับเล็กน้อย จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตมีการลงทุนขยายการผลิต และมีการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ดี
สำหรับภาวะเงินฝืด จะหมายถึง ภาวะที่เงินหมุนเวียนในระบบมีจำนวนที่น้อย ทำให้ประชากรไม่มีกำลังในการซื้อ ความต้องการซื้อลดลง ทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้า เพื่อให้ขายสินค้าได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน หากมีกำลังซื้อน้อย ผู้ผลิตก็ขายสินค้าไม่ได้ ต้องลดกำลังการผลิต อัตราการจ้างงานก็ต่ำลง เกิดสภาวะว่างมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด อาทิ การเมืองภายในประเทศไม่มั่นคง ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และชะลอการลงทุนในประเทศ หรืออาจนำเงินไปลงทุนในประเทศอื่นแทน รวมไปถึงปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยของค่าเงินต่างประเทศสูงขึ้น ทั้งนี้หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศสูงขึ้น จะทำให้นักลงทุนนำเงินกลับไปยังประเทศ เช่น สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย มีผลทำให้นักลงทุนเลือกที่จะนำเงินไปฝากที่ประเทศตัวเองเพราะจะได้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า ตลอดจนการลงทุนอาจจะไม่คุ้มกับค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
ทั้งไม่ว่าสถานการณ์จะอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ หรือเงินฝืด ไม่ควรที่จะเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป ภาวะสมดุลย่อมดีกว่า ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลและแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น