• 22 พฤศจิกายน 2024
  • Thailand

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

  • ข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้างอาคารมีความเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้น และในปัจจุบันได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาที่ดิน ในช่วงทศวรรษปี 2520 และ 2530 กรุงเทพฯ ได้ขยายตัวออกไปมากขึ้น แต่ในช่วงทศวรรษปี 2540 กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเมืองที่ความเจริญรวมเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น ด้วยการเกิดขึ้นของอาคารชุดพักอาศัยแนวสูงและการเติบโตของพื้นที่สำนักงานที่ทันสมัย   พื้นที่ใจกลางเมืองได้รับการกำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจนมากขึ้น และเกิดการพัฒนาโครงการรอบใหม่บนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก เช่น ที่ดินขนาด 105 ไร่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการวัน แบงค็อก บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุ

ราคาที่ดินเริ่มมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับต้นทุนโดยรวมในการพัฒนาโครงการเนื่องจากราคาที่ดินมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าค่าก่อสร้างมูลค่าโดยรวมในการพัฒนาโครงการได้เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้คอนโดมิเนียมมีราคาขายที่แพงขึ้นและทำให้จำเป็นต้องมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โครงการที่มีรายได้จากค่าเช่าสามารถเกิดขึ้นได้ ซีบีอาร์อี คาดการณ์ว่า ที่ดินในย่านใจกลางกรุงเทพฯ จะยังคงเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดต่อไปในการพัฒนาโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารประเภทอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น กรุงเทพฯจะมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใจกลางเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น และการพัฒนาโครงการจะขยายตัวไปตามเส้นทางการเดินรถของระบบขนส่งมวลชนบริเวณรอบสถานี

การที่ราคาที่ดินจะปรับตัวสูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการและผลตอบแทนที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงการ  ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าสามารถพัฒนาโครงการอะไรได้ และในระดับราคาใดที่ลูกค้ามีกำลังในการซื้อหรือการเช่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จเนื่องจากที่ดินแบบมีกรรมสิทธิ์เต็มหรือฟรีโฮลด์ในย่านใจกลางเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนานั้น มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆซีบีอาร์อีจึงคาดว่าราคาที่ดินจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางครั้ง ที่ดินมีราคาสูงกว่ามูลค่ารวมของอาคารที่ตั้งอยู่บนแปลงที่ดินและเราจะได้เห็นว่ามีอาคารเก่าถูกรื้อถอนและมีการพัฒนาโครงการขึ้นใหม่บนที่ดินแปลงเดิมมากขึ้นเราได้เริ่มเห็นการรื้อถอนอาคารเคี่ยนหงวน ทาวเวอร์ 1 บนถนนวิทยุ และอาคารวานิสสา บนถนนชิดลม  รวมทั้งแผนการรื้อถอนโรงแรมดุสิตธานีและปรับปรุงพื้นที่ใหม่  แต่จนถึงขณะนี้ การรื้อถอนเกิดขึ้นกับอาคารที่มีเจ้าของเดียวเท่านั้น

ในปัจจุบัน กฎหมายอาคารชุดกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องเห็นชอบร่วมกันทั้ง 100% ที่จะเพิกถอนอาคารเพื่อให้สามารถขายอาคารและนำมาพัฒนาใหม่ได้ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเราแม้ว่าปัจจุบันจะมีคอนโดมิเนียมบางแห่งที่มูลค่าของทุกยูนิตรวมกันจะมีมูลค่าน้อยกว่าการถือครองที่ดินเปล่าที่ใช้สร้างคอนโดมิเนียมนั้นก็ตามการขายยูนิตทั้งหมดและนำมาพัฒนาขึ้นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ซึ่งจำนวนเจ้าของร่วมที่ต้องเห็นชอบร่วมกันในการขายทั้งอาคารมีสัดส่วนที่น้อยกว่าของไทย ซีบีอาร์อีมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความเห็นชอบทั้ง 100% จากเจ้าของร่วมในกรุงเทพฯ ในการขายห้องชุดทั้งหมดให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ “สมมติว่าข้อกำหนดด้านผังเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง และขนาดพื้นที่ที่สามารถสร้างขึ้นได้ยังคงเหมือนเดิม ที่ดินในย่านซีบีดีของกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวสรุป

หน้า: 1 2