• 22 มกราคม 2025
  • Thailand

“แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” เผยแผนธุรกิจปี68 เปิดโครงการใหม่ 4 โครงการ มูลค่า 11,180 ลบ. ลดลง 64%

“แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” เผยแผนธุรกิจปี68 เปิดโครงการใหม่ 4 โครงการ มูลค่า 11,180 ลบ. ลดลง 64%

 



“แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” เผยแผนธุรกิจปี 2568  เปิดโครงการใหม่ 4 โครงการ มูลค่า 11,180 ลบ. ลดลง 64%  ตั้งเป้าหมายยอดขาย 23,000 ลบ. ยอดโอน 20,000 ลบ.  รายได้จากการเช่า ตั้งเป้า 9,240 ลบ.




นายวัชริน กสิณฤกษ์ กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการบ้านจัดสรร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการดำเนินงานโดยสรุปของบริษัทฯ สำหรับปี 2567 รวมทั้งแผนงานของปี 2568 ดังนี้  ในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2567 ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) แสดงจำนวนที่อยู่อาศัย ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์โดยผู้ประกอบการ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งตลาดลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์โดยรวมในตลาดที่อยู่อาศัยยังอ่อนตัวลง และเมื่อแยกรายตลาด พบว่า ตลาดบ้านแนวราบมีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง 22% ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมมีการโอนกรรมสิทธิ์ใกล้เคียงกับปีก่อน  ในด้านอุปทาน ข้อมูลจากบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) แสดงจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2567 ลดลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน อุปทานที่ลดลงมาจากทั้งตลาดบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียม แต่หากพิจารณาเฉพาะตลาดบ้านเดี่ยวพบว่า จำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในตลาดบ้านเดี่ยวมีจำนวนน้อยกว่าอุปทานที่เปิดขายใหม่ราว 50% จึงส่งผลให้จำนวนหน่วยเหลือขายของตลาดบ้านเดี่ยวเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้สินค้าบ้านเดี่ยวซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทยังคงมีการแข่งขันที่สูงมากต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565












สำหรับปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 2.9% และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะลดลง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐและจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น แต่ภาคการส่งออกยังชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ ความต้องการซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังได้รับแรงกดดันจากยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่ปรับสูงขึ้น และระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในปีนี้คือ การรักษาสภาพคล่อง และความระมัดระวังในการใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโครงการ






ปี 2567 สินค้าประเภทบ้านแนวราบ ซึ่งได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์ ยังคงเป็นสินค้าหลักที่สร้างยอดขายให้กับบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนประมาณ 80% ของยอดขาย และเมื่อจำแนกตามพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงเป็นพื้นที่หลักในการก่อให้เกิดยอดขาย โดยสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ประมาณ 88% ของยอดขายรวมทั้งหมด ซึ่งกว่าครึ่งของยอดขายรวมมาจากบ้านระดับราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป  บริษัทฯ ได้เปิดตัวบ้านเดี่ยวแบรนด์ใหม่ “ vie ” ภายใต้คอนเซปต์ The Limitless Life เป็นแบบบ้านสไตล์ Modern Minimal ให้พื้นที่และฟังก์ชันเปิดกว้างเน้นพื้นที่ใช้สอย โดยในปี 2567 ได้เปิดตัวโครงการแล้วใน 3 ทำเล ได้แก่ ราชพฤกษ์ตัดใหม่ ทางด่วนรามอินทรา-วงแหวน และ  ปิ่นเกล้า-พุทธมณฑลสาย 5





ปี 2567 บริษัทฯ มีการเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 12 โครงการ มูลค่า 30,850 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าแนวราบทั้งหมด เมื่อเทียบกับแผนเดิมที่ประกาศไว้เมื่อต้นปี พบว่า เปิดเพิ่มขึ้น 1 โครงการ คือโครงการ “ vie ทางด่วนรามอินทรา-วงแหวน ” มูลค่า 650 ล้านบาท โดยรวมแล้ว เฉพาะมูลค่าโครงการแนวราบที่เปิดใหม่ เพิ่มขึ้น 8.4% จากปีก่อน โดยในระหว่างปีบริษัทฯ มีการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ประมาณ 4,300 ล้านบาท







แผนการดำเนินงานปี 2568  เปิดตัว 4 โครงการใหม่ระดับกลาง-บน เนื่องจาก บริษัทฯ ยังมีสินค้าคงเหลือขายในระดับที่เพียงพอ ในปี 2568 บริษัทฯ จึงมีแผนเปิดโครงการใหม่เพียง 4 โครงการ มูลค่ารวม 11,180 ล้านบาท ลดลง 64% เมื่อเทียบกับปีก่อน โครงการใหม่ในปีนี้ทั้งหมดจะเป็นโครงการบ้านเดี่ยว ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 โครงการ และภูเก็ต 1 โครงการ โดยจะเป็นโครงการภายใต้แบรนด์บ้านเดี่ยวในระดับราคา 8 – 15 ล้านบาท คือ Siwalee และแบรนด์บ้านเดี่ยวในระดับราคา 30 – 80 ล้านบาท คือ Nantawan และ VIVE ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสินค้าในระดับกลาง-บน หรือทดแทนโครงการที่ขายหมดในปีที่ผ่านมา  ดังนั้น เมื่อรวมกับโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จำนวนโครงการที่ดำเนินการในปี 2568  จะมีทั้งหมด 75 โครงการ มูลค่าประมาณ 93,000 ล้านบาท  โดยเป็นสินค้าแนวราบ 69 โครงการ มูลค่าประมาณ 79,500 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 6 โครงการ มูลค่ากว่า 13,500 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยในปี 2568 ประมาณ 10.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 9.8 ล้านบาทในปีก่อน




นายโชคชัย วลิตวรางค์กูร กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการอาคารชุด เปิดเผยภาพตลาดและข้อมูลสินค้าคอนโดมิเนียมของบริษัทฯ ดังนี้ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) แสดงจำนวนหน่วยห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์โดยผู้ประกอบการ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 พบว่ามีจำนวนใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติมีประมาณ 15% เพิ่มจาก 13.5% ในปีก่อน ข้อมูลจากบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) แสดงหน่วยขายห้องชุด ที่เปิดใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ปี 2567 ลดลงประมาณ 43% จากปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการ มีการปรับตัวโดยเปิดโครงการลดลงตามทิศทางของกำลังซื้อที่ยังไม่ได้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม  ความต้องการซื้อในปีนี้ มีจำนวนมากกว่าหน่วยขายที่เปิดใหม่ จึงทำให้จำนวนหน่วยเหลือขาย ในตลาดคอนโดมิเนียม ณ สิ้นปี ลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาด ในปี 2568 คาดว่าตลาดคอนโดมิเนียมจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยบวกจากจำนวนหน่วยเหลือขายที่ปรับลดลงในปี 2567 และการลดลงของอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และมาตรการ LTV ยังเป็นปัจจัยกดดันส่งผลให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมอาจยังไม่แข็งแรงเท่าช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 











ปี 2567 บริษัทฯ มียอดขายจากสินค้าคอนโดมิเนียมกว่า 3,400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดขายรวมทั้งหมด โดยหลัก ๆ เป็นยอดขายจากโครงการ วันเวลา ณ เจ้าพระยา ประมาณ 2,500 ล้านบาท โครงการนี้เป็นโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดตัวในช่วงปลายปี 2566 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปีที่ผ่านมาโครงการวันเวลา ณ เจ้าพระยาได้เปิดเฟสใหม่ โดยเปิดขาย Tower C ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ปัจจุบันโครงการมียอดขายรวมประมาณ 7,700 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของมูลค่าโครงการ การพัฒนาโครงการมีควา คืบหน้าประมาณ 20% และคาดว่าจะเริ่มโอนได้ในช่วงปลายปี 2569   ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีสินค้าคอนโดมิเนียมในมือพร้อมขายทั้งหมด 6 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 13,500 ล้านบาท โดยเป็นโครงการสร้างเสร็จพร้อมโอน 5 โครงการ มูลค่าประมาณ 6,200 ล้านบาทและโครงการวันเวลาที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกกว่า 7,300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2568 บริษัทฯ จะเน้นการขายสินค้าคอนโดมิเนียมจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน




นายอาชวิณ อัศวโภคิน รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน ได้เปิดเผยฐานะการเงินของบริษัทฯ และการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ดังนี้  ผลการดำเนินงานปี 2567 ในด้านฐานะทางการเงิน บริษัทฯ ยังคงมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงจากการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ดีและจากสินทรัพย์ลงทุนที่มีอยู่ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท อายุ 2-3 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14% ต่อปี เพื่อใช้หมุนเวียนในการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ ประมาณ 67,000 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ประมาณ 1.3 เท่า และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 3.11%













สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่าและบริการ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการที่พัฒนาและอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทฯ ทั้งหมด 18 แห่ง ประกอบด้วยโรงแรม Grande Centre Point ที่เปิดดำเนินการ แล้ว 7 แห่ง (ขายเข้ากองทรัสต์ 6 แห่ง) และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง ศูนย์การค้า Terminal 21  3 แห่ง (ขายเข้ากองทรัสต์ 2 แห่ง) รวมถึง อะพาร์ตเมนต์และโรงแรมในสหรัฐอเมริกาอีก 5 แห่ง  ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตได้ดีกว่าแผนที่วางไว้ โดยคาดว่ารายได้ทั้งปีจะเติบโตประมาณ 16% จากปีก่อน สาเหตุมาจากธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายได้จากโรงแรม Grande Centre Point Surawong ที่ดำเนินการได้เต็มปีในปี 2567 และการเข้าซื้อโรงแรม Residence Inn Manhattan Beach เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ทำให้รายได้จากกิจการโรงแรมในสหรัฐอเมริกาเติบโตกว่าเท่าตัวจากปีก่อน โดยรวมแล้ว บริษัทฯ มีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่าและบริการ เป็นมูลค่า 5,800 ล้านบาท ประกอบด้วย เข้าซื้อโรงแรม Residence Inn Manhattan Beach  2,400 ล้านบาท  พัฒนาโครงการ Grande Centre Point Lumphini  2,100 ล้านบาท  พัฒนาธุรกิจโรงแรมและอะพาร์ตเมนต์อื่นๆ  1,300 ล้านบาท  เดือนพฤศจิกายน 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินการขายศูนย์การค้า Terminal 21 Pattaya ให้กับทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC) เป็นมูลค่า 5,680 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุน แต่เนื่องจากความต้องการหน่วยทรัสต์ของนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยมีมากเกินความคาดหมาย จึงส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนใน LHSC ของบริษัทฯ ปรับเปลี่ยนจาก 9.0% เป็น 7.8%






แผนการดำเนินงานปี 2568  เดินหน้าธุรกิจให้เช่าอย่างต่อเนื่อง ลดระดับหนี้สินต่อทุน บริษัทฯ ได้เตรียมงบลงทุนไว้ทั้งหมดประมาณ 8,500 ล้านบาท ประกอบด้วย  งบสำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 4,000 ล้านบาท  งบลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า  4,500 ล้านบาท และในปีนี้จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่อีก 1 แห่งในเดือนเมษายนคือ Grande Centre Point Lumphini ซึ่งเป็นอาคารประเภท Mixed Use ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานประมาณ 12,700 ตร.ม. และโรงแรม 512 ห้อง พร้อมทั้งพื้นที่จัดเลี้ยงที่มากที่สุดในเครือโรงแรม Grande Centre Point    ตามด้วย Grande Centre Point Ratchadamri2 ในปีหน้า และ Grande Centre Point Pattaya3   ในปีถัดไป  นอกจากนี้บริษัทฯ คาดว่าจะปรับพอร์ตการลงทุนในสหรัฐอเมริกา โดยลดสัดส่วนของอะพาร์ตเมนต์  ลงตามสถานการณ์หลังการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบการทำงานแบบ Work From Home อยู่ และบริษัทฯ จะหันมาเน้นการดำเนินธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก  บริษัทฯ มีแผนที่จะออกหุ้นกู้มูลค่า 12,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด และ  คาดว่า ณ สิ้นปี 2568 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิจะอยู่ในระดับประมาณ 1.0 เท่า ซึ่งลดลงจาก  สิ้นปี 2567








บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยธุรกิจ   ในประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้ชื่อบริษัท แอลเอชมอลล์แอนด์โฮเทล (LHMH) และธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้ชื่อบริษัท แอลเอชยูเอสเอ (LHUSA) ประกอบด้วยโรงแรม ห้างสรรพสินค้า อะพาร์ตเมนต์ และพื้นที่สำนักงานให้เช่า รายละเอียดของโครงการทั้งหมดที่แสดงเป็นรายได้จากโรงแรมและค่าเช่าในงบกำไรขาดทุน ปรากฎดังตารางต่อไปนี้

 โครงการในประเทศไทย                        (ล้านบาท)

ลำดับโครงการมูลค่าเจ้าของประเภททำเลที่ตั้งปีที่คาดว่าจะเปิด
  การพัฒนา   ดำเนินงาน
1Grande Centre Point Ploenchit1,500 LHPF-IIโรงแรมกรุงเทพดำเนินงานแล้ว
2Grande Centre Point Ratchadamri2,600LHHOTELโรงแรมกรุงเทพดำเนินงานแล้ว
3Grande Centre Point Terminal 212,000 LHHOTELโรงแรมกรุงเทพดำเนินงานแล้ว
4Grande Centre Point Sukhumvit 551,900 LHHOTELโรงแรมกรุงเทพดำเนินงานแล้ว
5Grande Centre Point Pattaya1,600 LHHOTELโรงแรมพัทยาดำเนินงานแล้ว
6Grande Centre Point Space Pattaya3,200 LHHOTELโรงแรมพัทยาดำเนินงานแล้ว
7Terminal 21 Rama 33,600 LHMHศูนย์การค้ากรุงเทพดำเนินงานแล้ว
8Grande Centre Point Surawong1,900 LHMHโรงแรมกรุงเทพดำเนินงานแล้ว
9Grande Centre Point Lumphini4,800 LHMHMixed-useกรุงเทพQ2’68
10Grande Centre Point Ratchadamri 24,600 LHMHโรงแรมกรุงเทพQ1’69
11Grande Centre Point Pattaya 34,300LHMHโรงแรมพัทยาQ1’70
 รวมมูลค่าเงินพัฒนาโครงการ 32,000    








  โครงการในสหรัฐอเมริกา                           (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)      

ลำดับโครงการ   มูลค่าประเภททำเลที่ตั้งปีที่คาดว่า
จะเปิด
  เงินลงทุน  ดำเนินงาน
1Parc135 อะพาร์ตเมนต์Campbell, CAดำเนินงานแล้ว
2Yard127 อะพาร์ตเมนต์Portland, ORดำเนินงานแล้ว
3Revere119 อะพาร์ตเมนต์Campbell, CAดำเนินงานแล้ว
4SpringHill31 โรงแรมAnaheim, CAดำเนินงานแล้ว
5Residence Inn68โรงแรมManhattan Beach, CAดำเนินงานแล้ว
 รวมมูลค่าเงินลงทุนในโครงการ  480