สถาปนิก’67 Collective Language สัมผัส สถาปัตย์ คาดกระตุ้นธุรกิจวัสดุก่อสร้างกว่า 22,000 ลบ.
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานสถาปนิก ถือเป็นงานใหญ่และมีความสำคัญมากต่อแวดวงสถาปนิกไทย โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 36 เพื่อให้งานนี้เป็นเสมือนเวทีจัดแสดงผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม และกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาศักยภาพสถาปนิกไทย ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง และที่สำคัญเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมชมงานเพื่อมาอัปเดทเทรนด์งานออกแบบ สถาปัตยกรรม พบปะกับสถาปนิกชั้นนำของไทยและต่างประเทศที่มาร่วมพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์ อีกทั้งได้ชมและเลือกซื้อสินค้าเพื่องานก่อสร้างที่มีการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ได้ในทุกๆ ปี
“สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปและเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง จนถึงปัจจุบันนี้สมาคมฯ ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ในด้านวิชาการ วิชาชีพ และสังคม เป็นเวลารวม 90 ปี ในโอกาสครบรอบ 90 ปี ทางสมาคมฯ จึงเห็นควรจัดโครงการเชิดชูสถาปนิกอาวุโส ในวาระครบรอบ 90 ปี เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ สถาปนิกอาวุโสและเผยแพร่ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ทั้งในด้านวิชาชีพ วิชาการ และมีส่วนสร้างสรรค์วงการสถาปัตยกรรมของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ให้แก่สถาปนิกรุ่นใหม่ นักศึกษา รวมถึงผู้ที่มีความสนใจในด้านสถาปัตยกรรมได้ รู้จัก เรียนรู้ ระลึกถึงคุณูปการและคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม โดยในนิทรรศการจะมีการจัดแสดงประวัติและผลงานของสถาปนิกอาวุโสที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวมทั้งจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ Work Shop ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมยุค Modern Architecture กิจกรรมประกวดคลิปสั้น เป็นต้น จึงอยากเชิญชวนให้เข้าร่วมชมนิทรรศการผลงานเชิดชูเกียรติสถาปนิกของเรา และร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปีไปด้วยกัน”
นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวเสริมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรม ASA Professional Seminar 2024 เป็นการจัดสัมมนาวิชาชีพที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของสถาปนิก นักออกแบบ และนักศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ หรืออยู่ในธุรกิจออกแบบ และก่อสร้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อการให้ความรู้ และนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน ช่วยต่อยอดการทำงานในอุตสาหกรรมออกแบบ และก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศ โดยกิจกรรม ASA Professional Seminar ในปีนี้ แบ่งออกเป็น 7 ส่วน ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้ตั้งแต่ งานสถาปัตยกรรมชุมชน งานสถาปัตยกรรมอนุรักษ์ เรื่องควรรีบรู้สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างในอนาคต เบื้องหลังความคิดของผู้สร้างสรรค์งานสถาปนิกในปีนี้ งานประกวดหัวข้อวิจัย มุมมองของสถาปนิก และนักออกแบบรุ่นใหม่ รวมไปถึงกรณีศึกษาการขออนุญาตก่อสร้างแบบใหม่จากสิงคโปร์ ซึ่งทางผู้จัดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าฟังในแต่ละส่วนของกิจกรรม ASA PROFESSIONAL SEMINAR จะสามารถนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาการทำงานวงการออกแบบ และก่อสร้างไทยต่อไปในอนาคต
นางสาวกุลธิดา ทรงกิตติภักดี ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวเสริมถึงกิจกรรมเด่นในปีนี้ ASA INTERNATIONAL FORUM 2024 โดยทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาร่วมถอดรหัสวิพากษ์ภาษาสถาปัตยกรรมผ่านภูมิภาคนิยม (Critical Regionalism in Architecture) จากแนวคิดและผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในระดับสากลของสถาปนิกไทยและต่างชาติ อาทิ อองตวน ชายา (Antoine Chaaya) พาร์ทเนอร์คนสำคัญของ เรนโซ่ เปียโน จาก Renzo Piano Building Workshop (RPBW), หม่าเหยียนซง (Ma Yansong) สถาปนิกจีนชื่อดังจาก MAD Architects, มาริน่า ทาบาสซัม (Marina Tabassum) สถาปนิกบังคลาเทศเจ้าของรางวัล Aga Khan พร้อมด้วยสองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง SHAU จากอินโดนีเซีย ดาเลียนาและฟลอเรียน (Daliana Suryawinata and Florian Heinzelmann), เอริค เลอรูซ์ (Erik L’Heureux) รองศาสตราจารย์และคณบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และ ต้นข้าว ปาณินท์ ศาสตราจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรและสถาปนิกไทยผู้ก่อตั้ง Research Studio Panin
ดร.พร้อม อุดมเดช ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวเสริมว่า ผู้เข้าร่วมงานสถาปนิก’67 นอกจากจะได้เยี่ยมชมนิทรรศการ และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ แล้ว ยังสามารถร่วมสนุกกับกิจกรรมพิเศษ เพื่อแลกรับของรางวัลประจำวัน ด้วยเกม ASA หากันจนเจอ (ASA Collects) เป็นเกม AR (Augmented Reality) ซึ่งจะประจำอยู่ในโซนหลักของพื้นที่ Main Exhibition ทำให้ผู้เข้าร่วมงานจะได้ชมนิทรรศการ แล้วยังสามารถเล่นเกมสะสม Badge ในแต่ละจุด เพื่อไปแลกของรางวัลพิเศษในแต่ละวันได้อีกด้วย
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวอีกว่า นอกจากกิจกรรมพิเศษต่างๆ แล้ว งานสถาปนิก’67 ยังมีนิทรรศการสำคัญและกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เชิญชวนให้มาเข้าชมกัน อาทิ นิทรรศการธีมหลัก “Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์” ถ่ายทอดอัตลักษณ์ร่วมทางภาษาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียที่มีความหลากหลาย ผ่านตัวอย่างผลงานของ 12 สถาปนิก มีมิติทางภาษาที่เชื่อมโยงกัน แต่อาจมีวัตถุประสงค์การสื่อสารที่แตกต่าง ตามด้วยนิทรรศการ ASA ALL MEMBER : Collective Practices ที่มีด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ 1.) นิทรรศการส่วนกลาง : จัดแสดงข้อมูลเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมและการออกแบบในประเทศไทย 2.) นิทรรศการผลงานสมาชิก : จัดแสดงผลงานของสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดา, นิติบุคคลและรวมถึงอีก 4 สมาคมวิชาชีพด้วยกัน
นายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะออแกไนเซอร์จัดงาน กล่าวว่า ในการจัดงานสถาปนิก’67 ได้ยกระดับการจัดงานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของวงการผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน และสร้างความคึกคักให้กับวงการ ก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์ เนื่องด้วยสัดส่วนทั้งจำนวนผู้แสดงสินค้า และจำนวนผู้เข้าชมงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2023 โดยในงานสถาปนิก’67 มีจำนวนผู้แสดงสินค้ากว่า 1,000 ราย เพิ่มขึ้น 9.4% แบ่งเป็นผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศประมาณ 30% โดยในจำนวนนี้จะมาจากทวีปเอเชีย 97% ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และทวีปยุโรป 3% ได้แก่ เยอรมัน อิตาลี อังกฤษ อีกทั้ง ในงานสถาปนิกครั้งนี้ทางผู้จัดงานยังได้มีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศโดยผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการให้กับผู้ชมงาน ด้านผู้เข้าชมงานคาดว่าจะมีจำนวนกว่า 325,000 คน เพิ่มขึ้น 6.25% จากปีที่ผ่านมา เมื่อลองดูข้อมูลการลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าที่เปิดระบบไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า โดยส่วนใหญ่จะมาจากทวีปเอเชียและโอเชียเนีย 95.22% ทวีปยุโรป 2.87% ทวีปอเมริกาเหนือ 1.34% ลาตินอเมริกา 0.38% และทวีปแอฟริกา 0.19% ตามลำดับ โดยคาดว่าภายในงานครั้งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจวัสดุก่อสร้างได้กว่า 22,000 ล้านบาท