เสนา ชูกลยุทธ์ JV พาร์ทเนอร์ขับเคลื่อนธุรกิจ Asset โต 50,000 ลบ. รอรับรู้รายได้ 82,000 ลบ. อัตราหนี้สินต่อทุนต่ำลงอยู่ที่ 1.13 เท่า
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาในวงการธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนประสบปัญหาหรือบางบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทาย หรือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของบริษัท โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะระบาดของ COVID-19 ขณะเดียวกันยุคนี้ยังเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้รู้จักกันในนาม VUCA World ที่ทำให้องค์กร หรือผู้ประกอบการต่างๆ ต้องปรับตัวตามกันให้ทัน และที่สำคัญก็คือต้องไปในทิศทางที่เหมาะสม
“เสนาฯ ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยตั้งแต่ที่ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เราก็ได้มีการเริ่มปรับตัว หรือจะเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจเพิ่มเติม โดยให้ความสำคัญในเรื่อง Partnership, การบริหารการเงิน และการบริหารจัดการพอร์ทโฟลิโออย่างมีประสิทธิภาพจะเห็นได้ว่าเรามีการเข้าซื้อ บริษัท เจ.เอส.พี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) (JSP) เพื่อขยายตลาดแนวราบเพิ่มเติม รวมถึงความร่วมมือกับ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป (HHP) ในการร่วมลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซี่งทำให้ปัจจุบันเรามีมูลค่า Asset สูงถึงกว่า 50,000 ล้าน หรือโตขึ้นถึง 43% โดยกลยุทธ์นี้เป็นการมองในระยะยาว เพื่อกระจายความเสี่ยง และลดการลงทุน ขณะเดียวกันอัตราหนี้สินต่อทุนของเราหรือ Net IBD/E Ratio ก็ต่ำลง ล่าสุดอยู่ที่ 1.13 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจบนพื้นฐานทางการเงินที่ดี” ดร. ยุ้ย กล่าว
ดร. ยุ้ย กล่าวด้วยว่า อีกส่วนสำคัญคือการบริหารพอร์ทโฟลิโอให้เหมาะสม โดยได้มีการขยายโครงการแนวราบเพิ่มขึ้น เพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ครอบคลุมทุก Segment สอดคล้องกับสภาวะตลาด และตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในแง่ ทำเล ราคา ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป และเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งปัจจุบันทางเสนามีมูลค่าสินค้าพร้อมพัฒนาและรอรับรู้รายได้สูงกว่า 82,000 ล้านบาท แบ่งการบริหารจัดการสินค้าใน port นี้ โดยพัฒนาในรูปแบบร่วมทุน 72%, ผ่าน บริษัท เซ็น เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Sen X ที่ 13% และโครงการที่พัฒนาโดยเสนาเองอีก 15% นอกจากนั้นยังมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจบริการอื่นซึ่งเป็นรายได้ประจำที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องด้วย “ขณะที่สัดส่วนรายได้นั้นได้ถูกบริหารจัดการให้เหมาะสม มีการกระจายรายได้ผ่านรูปแบบธุรกิจใน 2 ส่วนหลัก คือ รายได้จากโครงการที่พักอาศัย และรายได้จากธุรกิจบริการและธุรกิจเช่า ซึ่งเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอที่สัดส่วน 80/20 ในปัจจุบัน ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างเฝ้าระวัง ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสมดุลในระยะยาว”
ดร.ยุ้ย กล่าวทิ้งท้ายว่า รายได้จากการดำเนินการของบริษัท เริ่มมีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเพิ่มขี้นของรายได้จากการบริการสัดส่วน 20% และรายได้ทั้ง 100% เป็นเกณฑ์เงินสด ไม่ใช่แค่สัดส่วน 20% เงินสด สอดคล้องกับ Long Term Planning ของบริษัท ที่สำคัญไม่ได้ลดทอนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลงเลย การเติบโตในรูปแบบ JV ตามกลยุทธ์หลักขององค์กรนั้น นอกจากจะส่งผลให้เกิดการใช้เม็ดเงินลงทุนที่เหมาะสมแล้ว ยังได้มาซึ่ง Know-How และความเข้มแข็ง ลดความเสี่ยง และ สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องและสัดส่วนกำไรเป็นไปตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นด้วย