• 21 พฤศจิกายน 2024
  • Thailand

ดัชนีราคาค่าก่อสร้าง ไตรมาส 2 ปี 2566

ดัชนีราคาค่าก่อสร้าง ไตรมาส 2 ปี 2566




ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2566  ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น 2.1%





ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.0  จุด ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.1% แต่เป็นการเพิ่มที่มีทิศทางการชะลอตัวลง ดังจะเห็นได้จากอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงจากไตรมาสก่อน -0.3%  ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานในไตรมาส 2 ปี 2566 แสดงให้เห็นว่าในหมวดงานออกแบบและงานระบบ มีค่าดำเนินการในงานสถาปัตยกรรมมีการเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เป็นการเพิ่มแบบชะลอตัวลงเนื่องจากการมีการลดลง -0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) ซึ่งงานสถาปัตยกรรมมีสัดส่วน 65.8% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ สำหรับงานอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้








งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีอัตราค่าตอบแทนลดลง -4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลง -0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 27.9% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ งานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร อัตราค่าตอบแทนลดลง -0.01% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลง -0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 3.6% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ งานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนลดลง -3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลง -0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 2.7% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ





สำหรับหมวดราคาวัสดุก่อสร้าง พบว่า วัสดุก่อสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนใน 2 ประเภท ได้แก่ วัสดุประเภทกระเบื้อง และ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 12.5% และ 4.6% แต่วัสดุประเภทเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีการปรับตัวลง ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงมากที่สุดถึงประมาณ -17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี (YoY) โดยเป็นผลมาจากปริมาณอุปทานเหล็กในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบมีการปรับลดตามราคาพลังงาน รวมถึงอาจชะลอเกิดจากการซื้อและความต้องการลงทุนของเอกชนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ดัชนีราคาลดลง แต่หมวดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาดที่มีการเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำ และการขาดแคลนช่างฝีมือแรงงานคุณภาพ






สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาหมวดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60.4% ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 27.5% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาลดลง -17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลง -2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 9.3% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาลดลง -0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 7.1% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาลดลง -1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลง -0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 6.1% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

กระเบื้อง ราคาเพิ่มขึ้น 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY) ต่ลดลง -1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 5.6% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

สุขภัณฑ์ ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 3.3% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาลดลง -0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน 41.2% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง







“ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงตามดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานในไตรมาส 2 ปี 2566 ที่ ได้สะท้อนต้นทุนการสร้างที่อยู่อาศัย เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปีก่อนเล็กน้อยและแนวโน้มการทรงตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ยังมีตัวแปรสำคัญที่ต้องคำนึงถึงทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือ ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 39.6% ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน โดยในไตรมาส 2 ปี 2566 ค่าแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่าปัจจุบันมาก ก็จะกระทบค่าก่อสร้างบ้านของประชาชน และยังอาจส่งผลไปถึงต้นทุนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ด้วย” ดร.วิชัยกล่าวในตอนท้าย