• 21 พฤศจิกายน 2024
  • Thailand

7 วิธีปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

7 วิธีปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

7 วิธีปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

“ลุมพินี วิสดอม” แนะ 7 วิธีอย่างง่ายในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุด้วยตัวเอง ตอบรับสังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) แนะนำวิธีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุอย่างง่าย เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในครอบครัว ประกอบด้วย

1.การปรับปรุงห้องน้ำ ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุจะเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ ดังนั้น ห้องน้ำจึงเป็นพื้นที่แรกในบ้านที่ควรปรับปรุง โดยติดตั้งราวจับช่วยพยุงตัว ใช้กระเบื้องพื้นที่มีผิวหยาบโดยค่ากันลื่นที่ R10 ขึ้นไป เลือกสุขภัณฑ์ที่แข็งแรงไม่แตกหักง่าย โดยเฉพาะโถสุขภัณฑ์ระดับนั่งไม่ควรต่ำเกินไปทำให้ลุกยาก และห้องน้ำควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ

2. การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบรับการใช้งานของผู้สูงอายุ ควรเลือกเก้าอี้และโซฟาที่มั่นคงไม่ล้มง่าย เพราะผู้สูงอายุมักจะทิ้งน้ำหนักเพื่อพยุงตัวในขณะลุกหรือนั่ง ที่นั่งตื้นเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาหัวเข่า มากกว่าที่นั่งที่ลึก ที่นั่งที่สามารถปรับเอนได้เหมาะกับการพักผ่อนในตอนกลางวัน ที่รองขาจำเป็น ในการยกขาให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการเหน็บชาเบาะสามารถถอดซักทำความสะอาดได้ง่าย โต๊ะหรือชั้นวางของควรมีขอบมุมที่มนป้องกันการกระแทก ติดตั้งชั้นวางของที่อยู่ในระยะเอื้อมถึง ไม่สูงเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้บันไดปีน และฟูกที่นอนควรสูงจากพื้น 45-50 เซนติเมตร

3. วัสดุพื้นอุณหภูมิคงที่และลดแรงกระแทก ห้องผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ถ่ายเทความร้อน-เย็น กับสภาพแวดล้อมเร็วเกินไป เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นหิน เพราะเมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกไม่สบายตัว ร่างกายต้องปรับอุณหภูมิบ่อยอาจเกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น พื้นไม้ซึ่งอุณหภูมิคงที่จึงเหมาะกว่า ช่วยลดแรงกระแทกหากลื่นล้ม และลายไม้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังมีวัสดุพื้นลดแรงกระแทก ลายไม้ ทำจาก PVC ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน

4. บันไดมีราวจับยึดเกาะและมือจับประตูเปลี่ยนจากลูกบิดเป็นแบบก้านโยก บันไดเป็นจุดสำคัญที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ควรติดตั้งราวจับตลอดแนวบันไดทั้งสองด้าน โดยเป็นราวจับที่มั่นคง สูงจากพื้น 80 ซม. ในขณะที่มือจับประตูควรปรับเปลี่ยนจากลูกบิดมาเป็นที่เปิดปิดประตูแบบก้านโยก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ

5. พื้นที่สีเขียวฟื้นฟูจิตใจ ที่พักอาศัยที่มีพื้นที่สีเขียว ช่วยบรรเทาความตึงเครียด ลดระดับภาวะซึมเศร้า การได้สัมผัสธรรมชาติทำให้เกิดอารมณ์เชิงบวก อาจจัดให้มีพื้นที่ปลูกไม้กระถาง ผักสวนครัว กระตุ้นให้ผู้สูงอายุขยับร่างกายเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันมากขึ้น

6. เทคโนโลยี ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่อยู่คนเดียว หรืออยู่กันเองเป็นคู่ Smart Home จึงตอบโจทย์ความสะดวกสบาย สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ การเปิดปิดไฟด้วยเสียง หรือ Motion sensor โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เช่น ปุ่มฉุกเฉินที่ห้องน้ำและหัวเตียง เพื่อส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยัง ครอบครัว ผู้ดูแลอาคาร หรือโรงพยาบาลได้

7. เตรียม WiFi ให้พร้อม จากการสำรวจของ NRF พบว่าคนรุ่น Baby Boomer กว่า 47% ใช้ Social Network เพิ่มมากขึ้น โดย 75% มีบัญชี Facebook ของตนเอง ชื่นชอบการส่งต่อข้อมูลให้กับเพื่อนๆ รวมถึงใช้ติดต่อ กับครอบครัวเพื่อคลายเหงา นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังชื่นชอบการสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การติดตั้ง WiFi ที่ทั่วถึงทั้งบริเวณพักอาศัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น

“ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 21% และมีการคาดการณ์ ประเทศไทยจะกลายเป็น Super Aged Society ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยผู้สูงอายุแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สามารถดูแลตัวเองได้ (Independent Living/Active Aging) กับกลุ่มที่ต้องมีผู้ดูแล (Assisted Living) สำหรับกลุ่มที่ดูแลตัวเองได้ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัย ให้เหมาะกับการใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่กลุ่มที่ต้องมีผู้ดูแลที่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานบริบาลหรือ Nursing Home Care สถานบริบาล จำเป็นต้องออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว