ปี 2565 ราคาน้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด ส่งผลเบนซินไทยปรับราคา รัฐแก้ปัญหาตรึงราคาดีเซล
คุมราคาน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแนะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน
จากรายงานเดือน ม.ค. 65 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดูเหมือนว่า ราคาน้ำมันโลกจะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สำหรับประเทศไทยเองสถานการณ์ราคาน้ำมันปลีกมีการปรับราคาเป็นระยะ โดยเฉพาะน้ำมันกลุ่มเบนซิน ขณะที่ดีเซลรัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกและไทยเผชิญกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยกดดันให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลำบาก เพราะเกี่ยวข้องกับค่าขนส่ง วัตถุดิบต่างๆ และค่าไฟ ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 64 ไทยอยู่ที่ 2.7% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาก
ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐดูแลระดับราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ควรพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตลงมาบ้างเป็นการชั่วคราวก็จะบรรเทาผลกระทบประชาชนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบที่ไทยต้องนำเข้าเฉลี่ยถึง 90% เป็นมาตรการระยะกลางและยาว ก็จะช่วยแก้ปัญหาพลังงานในประเทศได้อย่างดี
ขณะที่นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย มองว่า จากการที่รัฐได้ตรึงดีเซลไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาทพร้อมกับการลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B 100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ 7% (B 7) 10% (B 10) และ 20% (B 20) ให้มีสัดส่วนผสมเดียว คือ 7% (B 7) เป็นเวลา 4 เดือน (ธ.ค. 64-มี.ค. 65) ควรเน้นทำให้รายได้ของคนไทยหรือภาคเกษตรกรเพิ่มขึ้นดีกว่า ส่วนราคาน้ำมันหรือสินค้าที่แพงก็คงไม่ใช่ปัญหา
ราคาปาล์มทะลายเฉลี่ยอยู่กิโลกรัม (กก.) ละ 11 บาทซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 10 ปี และล่าสุดบางพื้นที่ขยับไปสู่ 12 บาท/กก. ด้านราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 55-56 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตออกล่าช้ากว่าปกติ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเผชิญกับภัยแล้งต่อเนื่อง และรัฐกังวลว่าผลผลิตปาล์มที่ทยอยออกมาช่วง ก.พ.-มี.ค.ของทุกปีจะเป็นช่วงราคาตกต่ำจึงทำให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศ
แม้ว่าปีนี้ราคาปาล์มจะสูง แต่ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยปรับขึ้นไปมากกว่าเท่าตัว และที่ผ่านมาเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะเดียวกัน น้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรในตลาดเป็นสินค้าควบคุมแต่มีการอิงปาล์มทะลาย และ CPO ที่สูง รัฐจำเป็นจะต้องดูแลระดับราคาทั้งห่วงโซ่การผลิตให้เหมาะสมและสอดคล้องข้อเท็จจริงโดยไม่เอาเปรียบผู้บริโภคและเกษตรกร